เว็บฝึกเด็กออทิสติกไทยและการฝึกพูด
พูดช้า(Delayed Speech)
พูดช้า เด็กพูดช้า เป็นเด็กที่มีพัฒนาการทางภาษาและการพูดไม่เป็นไปตามอายุ เมื่อถึงอายุที่ควรพูดได้แล้วเด็กยังไม่พูดหรือพูดได้ไม่สมอายุ จะสังเกตได้อย่างไร อายุ 2 ปี แล้วยังพูดคำที่มีความหมายไม่ได้เลยแม้แต่คำเดียว เด็กที่มีความล่าช้าทางการพูดแบบนี้ เรียกว่า เด็กพูดช้า ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยเกี่ยวกับการพูดจากนักแก้ไขการพูด ซึ่งจะทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญสาขาอื่นๆ ได้แก่ นักตรวจการได้ยิน ครูการศึกษาพิเศษ นักจิตวิทยา นักสังคมสังเคราะห์ ประสาทแพทย์ จิตแพทย์ กุมารแพทย์ โสต ศอ นาศิก แพทย์ ในการตรวจวินิจฉัยเด็กที่มีปัญหาพูดช้าที่มีข้อบ่งชี้ หรือข้อวินิจฉัยเด็กที่มีปัญหาพูดช้าที่มีข้อบ่งชี้ หรือข้อสงสัยว่าจะมีความผิดปกติที่ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยจากผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ นักแก้ไขการพูด จะเป็นผู้รวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อสรุปผลการวินิจฉัย และวางแผนการรักษาที่ถูกต้อง ผู้ปกครองมักพาเด็กพูดช้ามาพบผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ด้วยปัญหาเด็กพูดไม่ได้ หรือไม่พูด โดยที่เด็กที่พูดไม่ได้ 45% ขึ้นไป มีสาเหตุมาจากประสาทหูพิการแต่กำเนิด ดังนั้น สิ่งแรกที่ต้องทำในการตรวจวินิจฉัยเด็กพูดช้า คือ การตรวจการได้ยิน จากนั้นจึงให้เด็กพบผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ ต่อไป สาเหตุที่ทำให้เด็กพูดช้า 1. หูพิการ การพูดช้าจะเป็นปัญหารุนแรงเพียงใดขึ้นอยู่กับ ชนิดของความพิการหู และอายุของเด็กที่เริ่มมีหูพิการ เด็กที่มีการนำเสียงเสีย หรือมีความบกพร่องของหูชั้นกลางและหูชั้นในร่วมด้วย จะทำให้เด็กรับฟังเสียงได้ไม่เป็นปกติ ซึ่งมีผลต่อการเรียนรู้ภาษาพูด เด็กที่เป็นหูน้ำหนวก จะทำให้รับฟังคำพูดของผู้อื่นได้ไม่ถนัด เด็กที่เป็นหูน้ำหนวกเรื้อรังนานๆ เข้าจนเป็นประสาทหูพิการ จะทำให้รับฟังคำพูดของผู้อื่นได้ไม่ดี และเรียนรู้การพูดได้ช้า เด็กที่มีประสาทหูพิการมาแต่กำเนิด มีประสาทหูพิการอย่างรุนแรงถึงขั้นหูหนวก ไม่สามารถได้ยินเสียงของผู้อื่น ทำให้ไม่สามารถเลียนแบบการพูด เด็กเหล่านี้ จึงเป็นใบ้พูดไม่ได้ เด็กที่มีหูพิการรุนแรงไม่ถึงขั้นหูหนวก พอจะได้ยินคำพูดบ้าง แม้จะได้ยินไม่ถนัดนักแต่เด็กก็ยังสามารถเลียนแบบคำพูดได้บ้าง เด็กเหล่านี้จึงเริ่มพูดช้า เมื่อพูดได้ก็จะพูดไม่ชัด มีพัฒนาการทางภาษาที่ช้ากว่าอายุ 2. สมองพิการแต่กำเนิด มักเป็นเด็กที่มารดามีประวัติการตั้งครรภ์หรือการคลอดผิดปกติ เด็กอาจไม่มีความพิการทางกายแสดงให้เห็นแต่เด็กพูดไม่ได้ บางรายฟังเข้าใจคำพูดผู้อื่นแต่พูดไม่ได้ บางรายพอพูดได้บ้าง แต่มีปัญหาพูดไม่ชัด บางรายมีปัญหาเกี่ยวกับความเข้าใจทั้งๆ ที่หูได้ยินดี 3. ปัญหาทางอารมณ์และจิตใจ เด็กที่มีปัญหาทางอารมณ์และจิตใจ ได้แก่ เด็กขี้อิจฉาพี่หรืออิจฉาน้อง เด็กที่ได้รับการตามใจทนุถนอมจากพ่อแม่มากเกินควร เด็กที่ถูกทอดทิ้ง เด็กที่ขาดความอบอุ่นในครอบครัว เด็กตามสถานสงเคราะห์ต่างๆ เด็กที่สุขภาพไม่สมบูรณ์ เจ็บป่วยบ่อยๆ ต้องเข้าโรงพยาบาลบ่อยๆ หรือต้องนอนอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน เด็กออทิสซึม เด็กเหล่านี้มีอาการพูดช้าเป็นอาการสำคัญ หรือไม่สนใจการสื่อความหมายด้วยการพูด เมื่อมีคนมาพูดด้วยเด็กมีทีท่าว่าได้ยิน แต่ไม่พูดโต้ตอบ บางครั้งเมื่อเด็กอยู่คนเดียว อาจพูดขึ้นมาเอง ด้วยถ้อยคำที่เคยได้ยินผู้อื่นพูด หลังจากนั้นจะไม่พูดอีกเลย 4. สติปัญญาไม่ดี เด็กที่มีสติปัญญาต่ำกว่าปกติ จะมีการพูดช้ามากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับระดับสติปัญญา ยิ่งสติปัญญาต่ำมาก การพูดก็จะพัฒนาช้ากว่าอายุมาก รายที่สติปัญญาต่ำในระดับรุนแรงอาจพูดไม่ได้ ส่วนเด็กที่มีสติปัญญาไม่ต่ำมากนัก เด็กเหล่านี้พอจะพูดได้ แต่มักรู้คำศัพท์ในวงแคบ ใช้ประโยคง่ายๆ และพูดไม่ชัด 5. ขาดการกระตุ้นทางการพูดที่เหมาะสมและขาดแรงจูงใจในการพูด เด็กกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ เป็นเด็กที่มีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรงดี แต่เด็กไม่พูด หรือพูดน้อย เด็กมีความเข้าใจคำพูดของคนอื่นได้ดี ปฏิบัติตามคำสั่งได้อย่างถูกต้อง เมื่อต้องการสิ่งใด หรือต้องการให้ผู้ใหญ่ทำอะไรให้ เด็กมักจูงมือผู้ใหญ่ไปทำ คนใกล้ชิดมักตอบสนองต่อเด็ก ด้วยการทำทุกสิ่งทุกอย่างให้ โดยเด็กแทบจะไม่ต้องแสดงให้รู้ว่ารู้สึกอย่างไร หรือต้องการอะไร เด็กไม่มีความรู้สึกว่าการพูดสื่อภาษากับผู้อื่นมีความสำคัญ เพราะเด็กมักได้ทุกสิ่งทุกอย่างโดยไม่ต้องพูด การฝึกพูด เน้นในเรื่องการส่งเสริมพัฒนาการทางการพูดให้เร็วที่สุด โดยใช้หลักการเรียนรู้และพัฒนาการทางการพูดของเด็กปกติ พ่อแม่และผู้ใกล้ชิดกับเด็ก มีความสำคัญมากในการสอนพูดเด็กเหล่านี้ เด็กควรอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีคนสื่อภาษาได้เห็นความสำคัญของการพูดและได้รับการกระตุ้นการพูด โดยใช้การเล่นและการพูดคุยในสถานการณ์จริงเป็นสื่อ คัดลอกมาจาก งานอรรถบำบัด สถาบันราชานุกูล
By: www.autismthai.com
<<Back Go to สาระน่ารู้
views[85599] | share